21 กรกฎาคม 2566

คัมภีร์อนุตรธรรมภาคจิตจักรวาล 21/07/2023


(เพื่อยุวจิตจักรวาลยุคสุดท้าย)
 
พี่ๆน้องๆที่รักแห่งเราทั้งหลาย
เราจะกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลายว่า
 
คนที่ไม่รู้กับคนที่โง่นั้นมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง
คำว่า “ต่างกันอย่างสิ้นเชิง” นั้นหมายความว่า
คนที่ไม่รู้และคนที่โง่มีสาเหตุที่มาแตกต่างกัน
นั่นคือ
 
#คนที่ไม่รู้
หมายถึงคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องนั้นมาก่อน
จึงไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่เลย
ทำให้เรื่องนั้นสิ่งนั้นเป็น “ความรู้ใหม่” ของตน
ที่ต้องเปิดใจเรียนรู้กันใหม่ให้ทันยุคสมัยเสมอ
เพื่อยกระดับตนเองให้เป็นคนทันสมัยเอาไว้
จะได้พูดคุยกับใครๆเขารู้เรื่องนั่นเอง
 
คนที่ไม่รู้หรือคนที่รู้น้อย
จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจและไม่น่าตำหนิอะไร
เพราะความรู้ในโลกนี้มีอยู่หลายประเภทเหลือเกิน
โดยแบ่งตามการเรียนรู้ได้เป็น 3 ประเภท คือ
 
1.ความรู้ที่กำลังอยากรู้อยู่แต่ตนยังไม่รู้
2.ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตนนั้นยังไม่รู้
3.ความรู้ที่รู้อยู่แล้วแต่ยังไม่รู้ว่าตนรู้ผิดอยู่
 
บุคคลที่พร่องด้านการเรียนรู้ประเภทที่หนึ่ง
เป็นบุคคลประเภทแรกที่ไม่น่าห่วงใยเท่าใดนัก
เพราะความอยากรู้อยากเรียนของคนพวกนี้
จะทำให้เขาขมีขมันขยันขวนขวายแสวงหาครู
แสวงหาความรู้จากตำราต่างๆอย่างไม่ย่อท้อ
โอกาสพบครูพบตำราเพื่อเข้าถึงองค์ความรู้นั้น
มีทางเป็นไปได้มากกว่าถ้ายังขยันเรียนรู้อยู่
 
#ความรู้ประเภทที่สอง
เป็นความรู้ประเภทที่ไม่รู้มาก่อนว่าตนนั้นยังไม่รู้
เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตแนวนั้นมาก่อน
เพราะไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน
จึงไม่อาจจะรู้ได้ว่าความรู้ใดที่ตนยังไม่รู้อีกบ้าง
ซึ่งความรู้ประเภทนี้เป็นปัญหาของคนทั่วไป
ทั้งคนที่ขยันหมั่นเรียนรู้จำพวกนักปราชญ์เมธี
แม้กระทั่งคนที่เกียจคร้านในการเรียนรู้ทั้งหลาย
เนื่องจากความรู้ในโลกในจักรวาลนั้นมีมากมาย
ต่อให้เป็นพหูสูตก็จะยังเรียนรู้ได้ไม่มีวันหมดสิ้น
 
ดังนั้น
พวกคุณจักต้องไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
ความประมาทในการดำเนินชีวิตคือ #หลงตัวเอง
คน “หลงตัวเอง” คือ พวกที่ทำตัวแบบน้ำเต็มแก้ว
ด้วยการหยุดเรียนรู้หรือปฏิเสธการเรียนรู้จนสิ้นเชิง
ทั้งๆที่น้ำในแก้วของตัวเองคือความรู้นั้นพร่องอยู่
ลองคิดดูว่าแก้วที่พร่องน้ำอยู่โดยไม่มีการเติมเต็ม
จะทำให้น้ำในแก้วใบนั้นเพิ่มขึ้นจนเต็มล้นได้หรือ
 
ที่เรากล่าวมานี้มันคือที่มาของ “คนโง่” โดยแท้
ซึ่งเป็นความโง่เพราะไม่ฉลาดที่จะเรียนรู้นี่แหละ
เนื่องจากการไม่รู้ว่าตนยังมีความรู้ที่ตนต้องรู้อยู่
แล้วหยุดการเรียนรู้ไว้แบบคนหลงตัวเองดังกล่าว
ทั้งๆที่แท้จริงแล้วตนยังต้องการที่จะเรียนรู้อยู่อีก
ความโง่ความงมงายจึงบังเกิดขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้
ทั้งบัณฑิตและนักปราชญ์เมธีไม่มีใครทำตนแบบนี้
จึงมีแต่คนโง่ง่ายกับคนที่หลงตัวเองเท่านั้น
 
#ความรู้ประเภทที่สาม
เป็นความรู้ประเภทที่ตนไม่รู้ว่ารู้ผิดอยู่
การไม่รู้ว่าตนรู้ผิดฟังดูแล้วน่าเห็นใจน่าสงสารนะ
ที่ว่าน่าสงสารก็เฉพาะตรงที่ “ไม่รู้” เท่านั้น
ยกเว้นที่ “รู้ผิด” ซึ่งไม่น่าสงสารแต่น่าตำหนิแทน
 
สาเหตุที่น่าตำหนิมากกว่าน่าเห็นใจก็เพราะว่า
 
1.รู้ผิดเพราะเรียนรู้มาจากครูที่ผิดคน
2.รู้ผิดเพราะอ่านตำราศึกษาคัมภีร์ที่ไม่ถูกต้อง
2.รู้ผิดเพราะยึดติดที่ตัวครูและตำราหรือคัมภีร์
4.รู้ผิดเพราะเชื่อครูเชื่อตำราหรือคัมภีร์เป็นสำคัญ
5.รู้ผิดเชื่อผิดเพราะหูเบาจึงไม่ใช้สติปัญญาที่มีอยู่
6.รู้ผิดเชื่อผิดเข้าใจผิดเพราะด้อยสติปัญญา
7.รู้ผิดเชื่อผิดหลงผิดเพราะกิเลสนำพาไป
 
คนที่มีความรู้ประเภทที่สาม
ซึ่งมีคุณสมบัติรวมๆกันอยู่ใน 7 ประการนี้นั้น
จะเป็นคนโง่ง่ายไปทันทีถ้าหลงตัวเองว่ารู้มากอยู่
จะยึดติดกับองค์ความรู้ที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวนั้นไว้
จนไม่ฟังใครหรือไม่ใส่ใจความรู้ใหม่ที่ถูกต้องกว่า
นี่จึงเป็นความโง่ง่ายในสิ่งที่รู้ผิดเชื่อผิดเข้าใจผิด
ถ้าไม่ยอมรับความรู้ใหม่ไม่ใส่ใจการเรียนรู้
ชาตินี้ทั้งชาติก็จะเอาดีในชีวิตไม่ได้เลย
 
การปิดกั้นการเรียนรู้ของตัวเองเอาไว้
แบบว่ากูรู้แล้วกูเข้าใจแล้วกูเติมเต็มจนเกินพอแล้ว
โดยทำตัวราวกับว่าถ้าเติมเข้าไปอีกน้ำก็จะล้นแก้ว
จนยังผลให้น้ำใหม่ที่เติมลงไปเพื่อไล่น้ำเก่าออก
จะทำให้น้ำในแก้วเป็นน้ำใสบริสุทธิ์แทนก็ไม่ได้
 
ทั้งๆที่ความรู้เดิมไม่ถูกต้องเป็นดั่งน้ำเก่าที่เน่าเสีย
เป็นน้ำที่ต้องชำระเป็นอวิชชาที่ต้องขจัดไปให้สิ้น
ถ้าไม่เรียนรู้เพิ่มนำความรู้ใหม่ที่ถูกตรงเข้าไปแทน
คุณก็จะไม่อาจทำลายความรู้ผิดนั้นให้รู้ถูกต้องได้
ความโง่งมงายมันจึงเกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุนี้
 
ส่วนใหญ่แล้วบุคคลที่มีความรู้ประเภทที่สาม
จะเป็นผู้ที่เรียนรู้มาแบบผิดๆเพราะมีครูที่รู้ผิด
ครูจึงสอนผิดหรืออ่านตำราเล่มผิดมาทั้งสิ้น
ด้วยความศรัทธาในตัวครูจึงยึดติดในตัวตนของครู
ด้วยความศรัทธาในตำราจึงติดยึดตำราเล่มนั้นไว้
ทำให้คนพวกนี้ใช้พลังศรัทธาขับเคลื่อนความเชื่อ
ในลักษณะของศรัทธาครูจึงเชื่อ “คำสอนของครู”
ศรัทธาตำราหรือคัมภีร์จึงเชื่อ “ความรู้ในตำรา” นั้น
โดยมิได้แตะต้องหรือหยิบใช้ปัญญาของสมองเลย
คนจำพวกนี้จะใช้ #ความรู้สึก ที่เป็นกิเลสแทน
 
#คนโง่ กับ #คนที่ไม่รู้ มันต่างกันแบบนี้แหละ
 
สื่อถ่ายทอดคลื่นความคิดในระบบจิตสู่จิต
จากองค์จิตจักรวาลดวงใหญ่
 
ปัญญาวิสุทธิ์
21/07/2566