09 กุมภาพันธ์ 2559

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ มารภายในจิตใจตนเอง


พี่ๆน้องๆที่รักแห่งเราทั้งหลาย

เราจะขอยกตัวอย่าง "จุดอ่อน" ของท่าน
ที่สามารถจะตกเป็นทาสของมาร

โดยเฉพาะมารภายในจิตใจของท่านเอง
อันเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่ง คือ
"ความอยากกับไม่อยาก"
มาให้ท่านได้เรียนรู้โดยทั่วกันว่า

1.ถ้าท่านสัมผัสรู้ดูเห็นสิ่งใดก็ตาม
แล้วสั่นสะเทือนทางจิตใจ
จนเกิดเป็น "ความรู้สึก" ขึ้นมาเมื่อไหร่

2.จิตท่านจะใช้ "ความรู้สึก" 
ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้น
เป็นเงื่อนไขให้จิตเอง
เกิดการสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องต่อไป
จนเกิดเป็น "ความอยาก" ขึ้นมาได้

3.ตัวความรู้สึก ในข้อ 1.นั้น
จิตมักอยู่ในอาการที่เรียกว่า

ชอบ กับ ไม่ชอบ
พอใจ กับ ไม่พอใจ
ยืนดี กับ ไม่ยินดี
เร้าใจ กับ ไม่เร้าใจ
......เป็นต้น

ความรู้สึกเหล่านี้นี่แหละ
ที่จะเป็นเงื่อนไขของจิตให้สั่นสะเทือนต่อ

จนเกิดเป็น "อยาก" เพราะชอบ
เกิดเป็น "ไม่อยาก" เพราะไม่ชอบ

เกิดเป็น "อยาก" เพราะพอใจ
เกิดเป็น "ไม่อยาก" เพราะไม่พอใจ

เกิดเป็น "อยาก" เพราะยินดี
เกิดเป็น "ไม่อยาก" เพราะไม่ยินดี

เกิดเป็น "อยาก" เพราะเร้าใจ
เกิดเป็น "ไม่อยาก" เพราะไม่เร้าใจ
........เป็นต้น

4.ถ้าจะเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับท่าน
ที่มีปูมหลังทางธรรมะ
เราก็จะกล่าวง่ายๆให้ฟังว่า

"ความรู้สึก" ก็คือ "กิเลส" นี่แหละ
มันจะเป็นบ่อเกิดแห่ง "ตัณหา"
ซึ่งเป็น "ความอยาก-ไม่อยาก" ของจิต
เสมือนเป็นฝาแฝดกันเลยทีเดียว

กล่าวคือ......
ถ้าจิตท่านเกิดกิเลสขึ้นมาเมื่อไหร่
อาการของจิตที่เรียกว่า "ตัณหา"
มันก็จะปรากฏตัวตามมาเมื่อนั้น
เพราะมันเป็นของคู่กัน
กิเลสอยู่ที่ไหน 
ตัณหาก็จักอยู่ตรงนั้น

5.เราคงมิพักต้องเปรียบเทียบหรอกว่า
ระหว่าง "กิเลส" คือ ความรู้สึก
กับตัว "ตัณหา" คือ ความอยากนั้น
ตัวไหนน่ากลัวกว่ากัน

ขอท่านรู้แต่เพียงว่า
ทั้งสองตัวนี่แหละคือ "มารภายใน" 
เพราะเมื่อใดที่จิตเกิดความอยากแล้ว
หากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "กฤตสติ" ค้ำจุน
จิตของท่านมันจะสั่งการให้สมองสั่งกาย
ให้ทำตามที่ "จิตอยาก" นั้นต้องการเสมอ

ดังนั้น
ตัวที่น่ากลัวก็คือ "มารภายใน" 
อันหมายถึง "จิตอยาก-ไม่อยาก" นี่เอง

6.คนที่ตกเป็นทาสของความอยากนั้น
เมื่อถูกกระตุ้นหรือปลุกเร้า
ให้เกิดกิเลสแล้ว
ก็มักจะทำอะไรตามใจตนเอง
ไม่แคร์อารมณ์รู้สึกนึกคิดต้องการ
ของใครๆทั้งสิ้น

นึกอยากพูดอะไรก็พูด
ไม่อยากพูดก็ไม่พูด

นึกอยากทำอะไรก็ทำ
ไม่อยากทำก็ไม่ทำ เป็นต้น

นอกจากนั้น
ถ้าถูกขัดใจเมื่ออยากหรือไม่อยาก
จิตนั้นก็จะสั่นสะเทือนลงไป
ในทางต่ำยิ่งกว่าเดิมอีก
คือเกิด "โทสะจริต" จำพวก
โกรธ เกลียด เคียดแค้น ขุ่นเคือง เป็นต้น

อาการทางจิตที่เกิดขึ้นดังว่ามานี้
มันเกิดจากจิตไม่ใสใจไม่สวย
เพราะจิตขาดคุณสมบัติอันวิสุทธิ์
จึงยังมิอาจบรรลุมรรคผลสูงสุด
คือเข้าถึงสภาวะนิพพานได้

นอกจากนั้น...
เจ้ามารภายใน คือ อยากกับไม่อยากนี่แหละ
หากท่านไร้ "มหาสติ"
มันก็จะแอบออกไปสมคบกับ "มารภายนอก"
ซึ่งคราวหน้าเราจะสยายให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
จนยิ่งทำให้ท่าน "ตกบันไดนิพพาน" กัน
เหมือนเช่นทุกวันนี้นั่นเอง

ดังนั้น
คนที่ชีวิต "ติดอยากกับไม่อยาก"
อันเกิดจากมารภายในตนเอง
ก็คือคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้
ที่มิอาจนำพาแก่นแท้ของตนกลับบ้าน

กลับคืนยังแดนสุญญตา
ที่ตนจากมาตั้งนานแล้วได้นั่นเอง
หมายรวมถึงผู้ใดกันบ้างล่ะเนี่ย?

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
9-2-2016