28 กันยายน 2560

สนทนาประสาจิตจักรวาล 5



#สนทนาประสาจิตจักรวาล

พี่ๆน้องๆที่รักทั้งหลาย

คำว่า "สอน" ธรรมะ
กับคำว่า "อวด" ธรรมะ
สองคำนี้ยังมีหลายคนเข้าใจสับสน
แต่ละคนเข้าใจว่ามีความหมายเหมือนกัน
โดยเข้าใจว่า "สอนธรรมะ"
กับ "อวดธรรมะ" มีความหมายเดียวกัน
ทั้งๆที่แท้จริงแล้วมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เราจึงขอกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลายว่า

1.คำว่า "อวด" นั้น
หมายถึง
การบอกคนอื่นให้รู้ว่า "ตนรู้อะไรบ้าง"

คำว่า "อวด" นั้น
หมายถึง การแสดงออก
ในสิ่งที่ตนเป็นอยู่มีอยู่หรือรู้อยู่
ให้คนอื่นรู้เห็น
โดยทั่วไปก็จะมีอยู่ 2 อวด ดังนี้คือ

#จำอวด คือ จำเขามาอวดว่าตนก็มีดี
เพื่อให้ผู้อื่นเขายอมรับนับถือหรือซูฮกตน

#โอ้อวด คือ แสดงออกในสิ่งที่ตนมีอยู่
เพียงเพราะต้องการข่มผู้อื่นไว้
จะทำให้ตนเองเด่นกว่า เหนือกว่า
เพื่อให้ผู้อื่นยกย่อง และยอมรับ

นอกจากนั้น
การแสดงออกด้วยคำพูด
หรือการกระทำใดๆในสิ่งที่ตนไม่รู้จริง
ไม่มีจริง ไม่ใช่เรื่องจริง หรือเกินจริง
เพื่อให้คนอื่นเขาหลงเชื่อตามนั้น
นี่ก็เรียกว่า "อวด" เหมือนกัน
ตัวอย่างก็มีหลายอวดดังต่อไปนี้

#อวดรู้ ทั้งๆที่ไม่รู้ หรือ รู้ไม่จริง
#อวดเห็น ทั้งๆที่ไม่เห็น หรือ เห็นไม่จริง
#อวดอ้าง ทั้งๆที่กล่าวอ้างข้างๆคูๆ
#อวดรวย ทั้งๆที่รวยไม่จริงหรือยังจนอยู่
#อวดดี ทั้งๆที่ไม่มีอะไรดีที่พร้อมจะให้อวด

นี่ล้วนเป็นตระกูลอวดทั้งนั้น

ดังนั้น
ผลลัพธ์ของการ "อวด-แสดง"
จึงเป็นได้แค่เพียง "สอนให้คนอื่นรู้"
ว่าคนที่เป็นผู้อวดแสดงนั้น "รู้อะไร"
คนที่เป็นผู้อวดแสดงนั้น "มีดีอะไร"

ตัวอย่างการ "อวดแสดง" ธรรม
ลักษณะสอนให้รู้ เช่น ประโยคต่อไปนี้

"รักษาจิตให้ดี
ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง
มีสติอย่าให้พร่อง
ความเศร้าหมองจะหมดไป"

#จงสังเกตให้ดีนะ
คำสอนนี้ครูมิได้แนะนำไว้เลยว่า
การรักษาจิตให้ดีนั้นน่ะจิตใคร
การรักษาจิตให้ดีนั้นต้องทำอย่างไร

#จงสังเกตให้ดีนะ
คำสอนนี้ครูก็มิได้แนะนำไว้เลยว่า
การทำหน้าที่ให้ถูกต้องนั้นคือทำอย่างไร

#จงสังเกตให้ดีนะ
คำสอนนี้ครูก็มิได้แนะนำไว้เลยว่า
มีสติอย่าให้พร่องต้องปฏิบัติอย่างไร
ความเศร้าหมองจึงจะหมดสิ้นไปได้

นี่เป็นตัวอย่างการ "อวดแสดง" ธรรม
ลักษณะสอนให้รู้อีกประโยคหนึ่งคือ

"มีกู ก็มีกรรม
ไม่มีกู ก็ไม่มีกรรม"

#จงสังเกตให้ดีนะ
คำสอนนี้ครูมิได้แนะนำไว้เลยว่า
มีกูกับไม่มีกูต้องทำอย่างไร
ปล่อยให้ผู้ฟังผู้เรียนไปคิดต่อกันเอาเอง

#จงสังเกตให้ดีนะ
คำสอนนี้ครูมิได้แนะนำไว้เลยว่า
ความหมายของคำว่า "กรรม" คืออะไร
ถ้ามีกูแล้ว กรรมมันเกิดขึ้นได้ยังไง
ถ้าไม่มีกูแล้ว กรรมมันไม่เกิดเพราะอะไร

พี่ๆน้องๆที่รักแห่งเราทั้งหลาย

คำสอนประเภทนี้เย้ายวนใจ
ชวนให้ซาบซึ้งในอรรถรสแห่งถ้อยธรรม
มากกว่าการชี้แนวทางปฏิบัติธรรมว่า
ถ้าจะเข้าถึงคำกล่าวที่หรูหรานั้นได้
จักต้องกระทำอย่างไรบ้าง

คนส่วนใหญ่จึงมัก "จำธรรม" ไว้ที่สมอง
มากกว่า "ทำธรรม" ในชีวิตจริง

2.ส่วนคำว่า "สอน" นั้น หมายถึง
การช่วยให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่ตนรู้
จนเขาสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์
ในชีวิตจริงของเขาได้

คำสอนที่ดี
จึงต้องมีแนวทางที่จะกระทำให้ด้วย
เพื่อช่วยให้คนอื่นๆง่ายขึ้น
เพื่อช่วยให้คนอื่นๆสามารถเข้าถึง
ข้อธรรมะที่ครูนำมาแสดงไว้นั้นได้จริงๆ

ตัวอย่างคำสอนที่ดี เช่น....

"ก่อนที่จะพูดอะไร
ให้ถามใจตนเองเสียก่อนว่า
สิ่งที่ตนกำลังจะพูดนั้น
มันจำเป็นจะต้องพูดออกไปหรือเปล่า
ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด"

นี่เป็นลักษณะคำสอนที่แท้จริง
เพราะชี้ชัดในความรู้ ความจริง
และมีสิ่งที่เป็นสาระสำคัญคือวิธีปฏิบัติ
ที่ชัดเจน แจ่มแจ๋ว เป็นรูปธรรม
โดยมิต้องเล่นคำทำสำนวน

ตัวอย่างคำสอนที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่ง
เช่น....

"หมาเห่า อย่าเห่าตอบ
เพราะมันจะมีหมาเพิ่มมาอีกตัว"
(Cr: ท่านพุทธาส)

นี่ก็เป็นลักษณะคำสอนที่แท้จริงเช่นกัน
เพราะให้ความรู้ความเข้าใจ
รวมทั้งให้วิธีปฏิบัติที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง

ดังนั้น
ท่านทั้งหลายผู้ใฝ่ธรรม
จึงต้องฉลาดเรียนรู้
ด้วยการเลือกครู #ผู้สอนธรรม

จงอย่าหลงเลือกครู
ที่ได้แต่จำธรรมมาอวด (แสดง) ธรรม
ซึ่งมีอยู่ 5 อวดด้วยกันตามข้อ 1 ที่ว่าไว้
โดยท่านจะพบเห็นกันอยู่มากมาย
ตามสไลด์อวดธรรมที่แชร์กันว่อน
โดยสอนอะไรอย่างไรก็ไม่รู้
แต่ถ้อยธรรมอ่านดูแล้ว
หวือหวาน่าแชร์ต่อเสียจริงๆ

เพื่อท่านจะได้นำเอาองค์ความรู้จากครูแท้
มาสู่การเป็นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญธรรมได้จริงๆ
แทนการดื่มด่ำแต่อรรถรสจากถ้อยคำ
ในข้อธรรมที่เขาอวดสำแดงกันอีกต่อไป

ท่านที่รู้ตัวว่า
ยังพึ่งพลังอำนาจทางปัญญาของตนไม่ได้
ยังจะต้องอาศัย "ครู" เป็นผู้ช่วยเหลืออยู่
บทเรียนนี้คงพอช่วยเหลือท่านทั้งหลาย
ค้นหาครูผู้สอนธรรมกันได้ง่ายขึ้นบ้างล่ะนะ

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
28-09-2017