03 ตุลาคม 2560

สนทนาประสาจิตจักรวาล 9


#สนทนาประสาจิตจักรวาล

พี่ๆน้องๆที่รักแห่งเราทั้งหลาย
เราขอกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลายว่า

การแสวงหา #วิธีดับทุกข์
กับการแสวงหา #หนทางพ้นทุกข์ นั้น
ทั้งสองอย่างนี้มันไม่เหมือนกันนะท่าน

พี่น้องเราส่วนใหญ่
ยังมีความเข้าใจสับสนกันมากระหว่างสองอย่างนี้
โดยเข้าใจว่าเมื่อดับทุกข์ได้แสดงว่าพ้นทุกข์แล้ว
ซึ่งเป็นการคิดเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง

เชิญท่านตามเรามาอย่าละเลยไปทางอื่น
แล้วตื่นตัวค่อยๆนึกคิดตามเรานะ
เพราะเราจะกล่าวความจริงให้กระจ่างว่า
การดับทุกข์กับการพ้นทุกข์นั้นมันต่างกันอย่างไร

1.ความทุกข์เป็นอาการของ "จิต"
เมื่อเกิดอาการนั้นๆขึ้นแล้วก็จะทนได้ยาก
เช่น กลุ้มใจ ขลาดกลัว ปริวิตก ผิดหวัง
โกรธ เกลียด เคียดแค้น อิจฉา ริษยา
เศร้าหมอง เสียใจ ห่วงหา อาวรณ์ อาลัย
เสียดาย เจ็บใจ หวงแหน หึงหวง
ลังเล อาฆาต เป็นต้น

2.ความทุกข์ทางจิตมากมายเหล่านี้
เป็นอาการของจิตที่สั่นสะเทือน
ด้วยคลื่นความถี่ต่ำกว่าปกติทั้งสิ้น
ใครที่เกิดอาการทางจิตตามข้อ 1 นี้
จึงถูกเรียกว่ากำลัง "จิตตก" เสมอ

3.คนที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายๆ
จิตก็จะสั่นไหวไปตามสิ่งเร้ารอบด้าน
หรือสั่นตามสิ่งเร้าภายในจากจิตของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นการยั่วยุหรือยั่วยวนก็ตาม
จิตก็จะตกเป็นทาสของสิ่งเร้านั้นๆทันที
ซึ่งในชีวิตประจำวันของท่านทั้งหลายนั้น
มันจะมีทั้งเร้าแล้วดี คือพอใจ
กับเร้าแล้วไม่ดี คือไม่พอใจ
โดยทั้งพอใจและไม่พอใจ
ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ในใจทั้งสิ้น

4.ปัญหาในชีวิตประจำวันของท่าน
ซึ่งเป็นที่มาแห่งความทุข์ใจรายวันนั้น
แบ่งคร่าวๆได้เป็น 3 ประเภท คือ

#ประเภทแรก ปัญหาส่วนตัวและครอบครัว
#ประเภทที่สอง ปัญหาการใช้ชีวิตทางสังคม
#ประเภทที่สาม ปัญหาเกี่ยวกับอาชีพการงาน

ท่านทั้งหลายจักต้องรู้ว่า
ในชีวิตประจำวันของท่านและคนส่วนใหญ่
เหตุแห่งทุกข์ใจมากมายทั้งหลายนั้น
มันมาจากปัญหาในสามประเภทนี้แหละ

บางท่านจะเผชิญปัญหาที่ละเรื่อง
บางท่านก็เผชิญปัญหามากกว่าหนึ่ง
บางท่านก็เผชิญปัญหารอบด้านเลย

ที่สำคัญก็คือบางปัญหาแก้ไขยากหรือแก้นาน
บางปัญหาแก้แล้วแก้อีกไม่รู้สิ้นสุดจุดจบ
บางปัญหาแก้ได้แล้วแต่เกิดปัญหาใหม่ขึ้นอีก
บางปัญหาที่เผชิญก็ยังหาทางออกไม่ได้
จนต้องปล่อยให้ปัญหามันคาราคาซังอยู่
ทั้งๆที่รู้ดีว่าทิ้งไว้นานไม่ได้ ไม่แก้ไขก็ไม่ได้

สถานการณ์เหล่านี้
ล้วนเป็นที่มาแห่งทุกข์ท่วมใจได้ทั้งนั้น

5.พี่ๆน้องๆที่รักแห่งเราทั้งหลาย

คนส่วนใหญ่สมัยนี้
ที่ห่างไกลจากการประพฤติธรรม
โดยไม่ใส่ใจในการยกระดับจิตตปัญญา
เพื่อพัฒนา #จิตสามนึก
คือ นึกออก นึกเอา และนึกเองนั้น
มักจะเป็นคนสติแตกง่ายเมื่อถูกยั่ว
จะเป็นคนโมโหร้าย
มีนิสัยทางอารมณ์ที่น่ากลัว
ผิดจากมนุษย์มนาโดยทั่วไปอย่างชัดเจน

ท่านทราบหรือไม่ว่า
คนเหล่านี้หรือตัวท่านเอง
ที่หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียวง่าย โมโหร้าย
และเป็นคนขาดสติง่ายคุมอารมณ์ไว้ไม่อยู่นั้น
เป็นเพราะว่าท่านมีต้นทุน
ทางจิตด้านบวกต่ำมาก

สาเหตุที่จิตมีต้นทุนด้านบวกต่ำก็เพราะว่า
ในชีวิตประจำวันของท่านนั้น
ได้สั่งสมแต่ด้านลบเอาไว้มากเกิน
สภาวะจิตของท่าน
จึงสั่นสะเทือนในระดับที่ต่ำกว่า
ระดับของความสงบสมดุลอยู่อย่างนั้น

เมื่อถูกยั่วยุด้วยเงื่อนไขด้านลบแม้เล็กน้อย
สภาวะจิตของท่านก็จะระเบิดความเป็นลบ
ออกมาตอบสนองอย่างรุนแรงทันที
ทั้งๆที่บางทีเป็นเรื่องเล็กน้อย
แต่อาการตอบสนองเหมือนเป็นเรื่องใหญ่
เพราะว่ามีการขาดสติเกิดขึ้น
จึงควบคุมพฤติกรรมตนเองไม่ได้

6.ในชีวิตประจำวัน
ท่านทั้งหลายได้แต่นัวเนียนุงนังอยู่กับ
ปัญหาทั้งสามประเภทที่เรากล่าวไว้นั้น
ทั้งปัญหาเก่าๆที่ค้างคา
กับปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
จนท่านทั้งหลายพากันเมาปัญหา
จึงเปิดปัญญาใช้สมองของตนเองไม่ได้
จนนำมาซึ่งความทุกข์ทางใจไม่เว้นว่าง

ไม่แปลกหรอกที่พระบิดาแห่งจิตวิญญาณ
คือ เอกองค์จิตจักรวาลของท่านทั้งหลาย
ทรงเปิดมิติทางปัญญาให้ท่านได้รู้จัก
วลีที่ท่านคุ้นเคยกันอยู่เป็นประจำ
เพื่อสร้างสติทางวิญญาณให้แก่ท่าน
วลีที่ว่านี้ก็คือ....

ทุกข์-ทุกวันเวลา
ทุกข์-ทุกคน
ทุกข์-ทุกแห่งหน
ทุกข์-ทุกวิถีทาง
ทุกข์-ทุกค่ำคืน
ทุกข์-ทุกความต้องการ

สาเหตุเพราะทรงพบว่า
คนส่วนใหญ่บนโลกนี้คุ้นชินกับความทุกข์
จนไม่รู้ว่าสภาวะจิตตนเองนั้นป่วยอยู่
อันหมายความว่า "จิตป่วย" ด้วยโรคทุกข์
จากอาการจิตตกมากมายทั้งหลายแหล่
จึงทรงพยายามจะช่วยเหลือพวกท่าน
ให้หันมาฟื้นฟูสภาวะจิตตนเองกันเสียที

7.ดังนั้น
หน้าที่ของท่านทั้งหลายก็คือ
1.ต้องค้นหา "วิธีดับทุกข์" ที่ในใจให้ได้
2.ต้องค้นหา "วิธีป้องปกจิตใจ" มิให้ทุกข์อีก
3.ต้องค้นหา "หนทางพ้นทุกข์" ตลอดกาล

การดับทุกข์
เป็นการทำให้จิตสงบชั่วคราว
เมื่อเกิดทุกข์ขึ้นในจิตใจแล้ว

การป้องปกจิตใจมิให้ทุกข์อีก
เป็นการระมัดระวังตนมิให้ตกเป็นทาสการยั่วยุ
ในขณะใช้ชีวิตอยู่ในสังคม

การหาหนทางพ้นทุกข์ตลอดกาลนั้น
จะเป็นการยกระดับสภาวะจิตของท่านเอง
ให้อยู่เหนือทั้งทุกข์และสุข
ด้วยการไม่ติดทุกข์ไม่ติดสุข
คือ อยู่กับทุกข์ก็สุขสงบได้
อยู่กับสุขก็ไม่ทุกข์เพราะกลัวสุขจะหาย

8.พี่ๆน้องๆที่รักทั้งหลาย
การที่วันๆท่านเอาแต่ฝักใฝ่การนั่งสมาธิ
เพื่อเพียงต้องการดับทุกข์ที่ในใจ
โดยมุ่งหวังให้จิตสงบชั่วคราว
เราจึงไม่สนับสนุนให้ท่านทำเช่นนั้นเลย
ถ้าท่านปรารถนาการหลุดพ้นแท้จริง

เพราะท่านจะหลุดพ้นไม่ได้
ถ้าจิตของท่านมันยังป่วยอยู่
เพราะจิตหยาบป่วยจิตวิญญาณก็ป่วย

จิตวิญญาณของท่านจะต้องแข็งแรง
จึงจะมีแรงดีดตนเองออกจากเอกภพนี้ได้
จิตหยาบจึงต้องได้รับการชำระให้สมดุล
มิใช่ปล่อยให้มีการอมโรคอยู่
หรือได้แต่กินยากดอาการป่วยไว้เท่านั้น

หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจ
ในคำกล่าวของเราพอประมาณนะ

จงอย่าเกียจคร้านที่จะอ่านพระโอวาทนี้
ที่พระบิดาทรงเมตตาต่อพวกท่าน

จงอย่ามักง่ายในการเรียนรู้
ด้วยการอ่านผ่านๆเพียงสักแต่ว่าอ่าน
หรือเกิดอาการเบื่อหน่าย
เพราะความยาวขององค์ความรู้นี้

นิพพานมิใช่เรื่องง่าย
สำหรับคนที่ไม่เอาไหน
แต่ไม่ยากสำหรับใครที่มุ่งมั่นหมั่นเพียร

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
3-10-2017