31 สิงหาคม 2558

หลักปฏิบัติธรรมประจำวัน


หลักการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
โดยไม่ต้องปลีกวิเวก สำหรับฆราวาส
ตามมรรควิถีจิตจักรวาล




การปฏิบัติธรรม คือ อะไร

การปฏิบัติธรรมของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน
หมายถึง การฏิบัติตนให้เป็นธรรมชาติแห่งตน
โดยมีหลักปฏิบัติ รวม 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1.รักษาจิตให้สงบไว้  

หมายถึง:  การไม่ปล่อยจิตใจ
ให้ตกเป็นทาสของสิ่งปลุกเร้ายั่วยุจากภายนอก
ที่ท่านสัมผัสรู้ดูเห็นผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส 
จนเกิดเป็น "ความรู้สึก" ชอบไม่ชอบ 
สวยไม่สวย เพราะไม่เพราะ เป็นอาทิ

ถ้าท่านยอมให้จิตตกเป็นทาสของสิ่งเร้า
จนสั่นสะเทือนเป็นความรู้สึกดังว่านั้นเมื่อใด
ตัวความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น
มันจะเข้าไปทำลายความสงบของจิตแต่เดิม
จนเป็นเหตุให้สภาวะจิตเสียสมดุลไปทันที

ซึ่งเมื่อมันเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาแล้ว
จิตของท่านจะมิอาจหยุดการสั่นสะเทือน
อยู่เพียงแค่นั้นได้
แต่มันจะสั่นสะเทือนแรงขึ้นๆ
จนท่านจะไม่สามารถควบคุมมันได้
ดุจดั่งเบรคไม่อยู่ก็มิปาน

ในที่สุดเจ้า ความรู้สึก ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นั้น
มันก็จะกลายเป็นเงื่อนไขให้ตัวท่าน
เกิด "ความอยาก" เพราะชอบ
หรือ เกิด "ความไม่อยาก" เพราะไม่ชอบ
อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาให้เกิดปัญหาขั้นต่อไปอีก

ขั้นตอนนี้เองเป็นขั้นตอนสำคัญ
ที่จะยังผลให้มนุษย์ทั้งหลาย
สั่นสะเทือนเป็น มโนกรรม กายกรรม และวจีกรรม 
ทั้งที่เป็นการกระทำด้านบวกคือด้านดี
และการกระทำด้านลบคือด้านไม่ดีหรือด้านชั่ว

ดังนั้น...
พระบิดาแห่งจิตวิญญาณ
หรือองค์จิตจักรวาล
จึงทรงจัดจำแนกให้  

ความรู้สึกทั้งหลาย เป็น กิเลส 
ความอยากไม่อยาก ซึ่งเป็นผลจากกิเลสเป็น ตัณหา

ถ้าท่านไม่รักษาจิตให้สงบไว้ในระหว่างวัน
โดยปล่อยให้มันตกเป็นทาสของสิ่งเร้าภายนอก
หรือตกเป็นทาสการปลุกเร้าของจิตตัวเองโดยไม่มีใครยั่ว
ท่านก็จะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
ที่สภาวะจิตจะเสมือนตกอยู่ในท่ามกลางทะเลแห่งโลกียะ 

ทะเลแห่งโลกียะ
จะเต็มไปด้วยคลื่นหยาบๆใหญ่ๆ
ที่จะส่งผลให้เรือมนุษย์แต่ละลำโคลงเคลงรุนแรง
จนเรือบางลำอาจพลิกคว่ำจมหายไปได้

คลื่นหยาบๆที่ในจิตซึ่งเปรี่ยบดั่งคลื่นลูกใหญ่
ในทะเลแห่งโลกียะที่ว่านี้ก็คือ
โลภะ โทสะ โมหะ
ซึ่งเป็นคลื่นการสั่นสะเทือนของจิต
ในย่านความถี่หยาบๆแต่อานุภาพการทำลายรุนแรงยิ่ง

เราจะกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลายว่า
โลภะ โทสะ แล โมหะ ที่ว่านี้
ก็เป็นผลมาจาก ตัณหา อันเนื่องมาแต่ กิเลส นั่นเอง

2.ระงับดับกิเลสไว้ให้ได้

เรารู้ดีว่าการที่ท่านจะไม่ตกเป็นทาสการยั่วยุ 
ด้วยการระวังจิตให้สงบไว้ตลอดเวลาเป็นไปได้ยาก
เพราะว่าท่านคุ้นเคยกับมันจนเป็นสันดานของตนไปแล้ว

ท่านจักต้องหมั่นฝึกฝนตนเองในชีวิตประจำวันให้ได้
อย่าไปใช้วิธีนั่งหลับตาส่องจิตอยู่ลำพัง
เพราะท่านยังมีสังคม ยังมีครอบครัว
ชีวิตจริงของท่านไม่ได้อยู่วิเวกคนเดียว

หลักการปฏิบัติตรงนี้ก็คือ
หมั่นดับความรู้สึกใดๆที่เกิดขึ้น
ให้ทันภายใน 3 นาที อย่าให้นานกว่านี้  
ดับทันทีที่พบว่ามันกำลังเกิดขึ้น
เช่น สวยไม่สวย ชอบไม่ชอบ ฯลฯ

ท่านจะรอไปดับมันตรงความอยากไม่อยากนั้นไม่ได้
เพราะมันสายเกินไปแล้วล่ะ
เนื่องจากพอเกิดอยากไม่อยากขึ้นเมื่อใด
จิตมันจะลื่นไถลไปสู่ โลภะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้น

ทางที่ดีหากจะดับมันให้ได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว
ท่านจะสามารถนิพพานกิเลสหรือดับตัวความรู้สึกใดๆได้
ก็ด้วยการระวังจิตมิให้ตกเป็นทาสการยั่วยุ
ควบคุมมันไว้ให้ได้ตั้งแต่ต้นทางนั่นแหละ

ถ้าท่านดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง คือ นิพพานกิเลส
นั่นเท่ากับว่า ตัณหา และอารมณ์หยาบๆรายวัน
ภายในสภาวะจิตของท่านนั้น
มันก็จะถูกดับอย่างสิ้นเชิงตามกันไปด้วย
เพราะทั้งตัณหาและอารมณ์
ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการทำดีทำชั่วของท่านทั้งหลายน่ะ
เป็นผลลัพธ์ของ กิเลส ทั้งสิ้น


3.ครองมหาสติไว้ให้ได้

เพื่อยังความไม่ประมาท
ขอท่านทั้งหลายจงครองมหาสติไว้ให้มั่น

มหาสติ คือ รู้สติ มีสติ และใช้สติ

เพราะมันจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ท่าน
สามารถข้ามผ่านการยั่วยุหรือปลุกเร้าทั้งปวงได้
จากการรู้สติและมีสติในชีวิตประจำวัน

นอกจากนั้นท่านยังจะสามารถเข้าถึง
การใช้ความฉลาดทางปัญญาของสมองสองซีก
สั่นสะเทือนร่วมกับจิตที่สงบและเปี่ยมรัก
เป็นการสั่นสะเทือนทางจิตสำนึกด้านบวก
จากการ ใช้สติ ที่สามารถคิดก่อนพูด
คิดก่อนทำได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ดีงามอีกด้วย

หากท่านปฏิบัติได้ตลอดวัน
มันก็คือการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายนั่นเอง
ท่านจะไม่มีวันก้าวล่วงผู้ใด
ท่านจะไม่โกรธอาฆาตให้เกิดการเกี่ยวกรรมกับใครง่ายๆ
ท่านจะสามารถรักใครก็ได้ ให้อภัยใครก็ได้
ท่านจะมีชีวิตที่สุขสงบ
ทำงานร่วมกับใครก็ได้
ใช้ชีวิตร่วมกับใครก็ได้
ท่านจักถึงนิพพานในโลกแห่งความจริงได้ชัดขึ้น

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
31-08-2015