18 พฤศจิกายน 2559

ทุกข์หรือสุข มันเกิดที่จิตใจซึ่งอยู่ข้างใน



พี่น้องที่รักแห่งเราทั้งหลาย...

ทุกข์หรือสุขมันเกิดที่จิตใจซึ่งอยู่ข้างใน
ทุกข์สุขของใครก็อยู่ที่ในจิตใจของใครคนนั้น

เหตุและผลแห่งทุกข์กับสุข
จึงเป็นเรื่องเฉพาะตนคนอื่นไม่เกี่ยว

ความทุกข์ทั้งปวงล้วนเกิดจาก
จิตใจท่านบังเกิดความไม่พึงพอใจขึ้น
เมื่อเกิดความไม่พึงพอใจจนได้ที่แล้ว
จิตก็จะแปลเป็นความอยากไม่อยาก
เจ้าตัว "อยาก-ไม่อยาก" นี่แหละ
ตัวก่อทุกข์ล่ะนะ

*เมื่อได้ฟังเขาก่นด่าท่านมาแล้ว
ท่านจะเกิดความรู้สึกไม่ชอบใจไม่พอใจทันที

ไม่พอใจเพราะท่าน "ไม่อยาก" ให้เขาด่า
ไม่พอใจเพราะท่าน "อยากให้" เขาหยุดด่า

แต่ปรากฏว่าเขากลับด่าท่านไม่ยอมหยุด
ท่านจึงเสียสมดุลทางอารมณ์มาก
หรืออารมณ์เสียมากก็เลยโกรธจัด

เมื่อท่านโกรธจัดจิตก็ไม่สงบแล้ว
จิตไม่สงบก็คือ "จิตทุกข์" หรือ "จิตป่วย"

ถ้าท่านมีนิสัยใจคอแบบนี้
คือ จิตติดทุกข์อยู่เป็นประจำ
แสดงว่าจิตท่านนั้นมันเกิดอาการ "ป่วย" แล้ว

นอกจากนั้น...
ถ้าท่านกำลังพึงพอใจทุกสิ่งในชีวิต
ท่านก็ "อยาก" ให้มันเป็นเช่นนั้นตลอดไป
ท่านย่อม "ไม่อยาก" ให้ชีวิต
มันผันแปรเปลี่ยนไปจากที่มันเป็นอยู่

แต่ยิ่ง "ไม่อยาก" ให้มันเปลี่ยนมากเท่าไหร่
จิตใจก็จะยิ่ง "ปริวิตก" มากเท่านั้น

ถ้าจิตใจยิ่ง "ปริวิตก" มากเท่าไหร่
จิตใจก็จะยิ่งไม่สงบจนเกิด"ทุกข์"มากเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เอง...
เราจึงขอกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลายว่า

ความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือ พอใจ ไม่พอใจ
เป็นต้นสายของเหตุแห่งความทุกข์ในชีวิต
ความรู้สึกทั้งสองด้านจึงเป็น "กิเลส"
ซึ่งท่านไม่ควรปล่อยให้จิตติดอาการเด็ดขาด

เพราะถ้าเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว
จิตของท่านมันจะปรุงแต่งเป็น
อาการ "อยาก-ไม่อยาก" ต่อไปทันที
ท่านจะไม่มีทางระงับยับยั้งมันได้เลย
เจ้าตัวอยากไม่อยากนี่แหละ คือ "ตัณหา"

ตัณหา จึงมาจากกิเลส
ถ้าดับกิเลสหรือความรู้สึกตัวนี้ได้
ตัณหาคืออยากไม่อยากย่อมดับตามไปด้วย
ถ้าท่านดับตัณหาได้
ตัวอุปาทานคือการหลงผิดก็จะไม่เกิด
อุปาทานก็คือการลุ่มหลงในเงามายาของสรรพสิ่ง
เพราะคิดว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นตัวตนแก่นแท้
ทั้งรูป รส กลิ่น เสียงจึงหลงยึดติดพวกมันเข้า
การหลงยึดติดในสิ่งเหล่านี้นี่เอง
จักเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งปวง

ถ้าท่านดับตัณหาไม่ได้
ตัวอุปาทานก็จะสร้างปัญหาทางจิตแก่ท่านต่อไป
นั่นคือ มันจะทำให้จิตของท่านไม่ว่าง
ที่ไม่ว่างเพราะมัวแต่หลงยึดติดอัตตาของสรรพสิ่ง
การยึดติดมากจนยากจะปล่อยวาง
ยังจะทำให้จิตท่านเสียสมดุลไปจากความว่าง
ห่างไกลจากความสุขสงบ
เพราะมันจะเกิดโทสะ โลภะ โมหะ
มาพอกพูนจิตใจคล้ายดั่งสนิมจนหนาขึ้นเรื่อยๆ
ในบั้นปลายจิตใจท่านก็จะเกิดการ "ตายด้าน"

อาการ "ตายด้าน" ก็คือ
รักไม่ได้ ให้ไม่เป็น เห็นแก่ตัว

ดังนั้น
ถ้าหากท่านทั้งหลาย
ยังใช้ชีวิตด้วยจิตที่ติดทุกข์กันอยู่เยี่ยงนี้
โดยไม่ยอมเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองเลย
ท่านก็จักเป็นปลาที่ถูกคัดทิ้งแน่นอน

กราบพระบาทพระบิดา
ที่ทรงเมตตาประทานพระโอวาท

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา

18-11-2016